เด็กพิการ เป็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้ได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษา และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก บนพื้นฐานความเท่าเทียมกับเด็กทั่วไปและได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับวัยและความพิการ (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, ๒๕๕๔) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดสิทธิทางการศึกษาไว้ใน มาตรา ๔๙ วรรคสอง ระบุว่า "ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น” และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดสิทธิทางการศึกษาไว้ในมาตรา ๑๐ ความว่า “การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ”
นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาไว้ใน มาตรา ๕ ความว่า คนพิการมีสิทธิทางการศึกษาดังนี้ ๑) ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ๒) เลือกบริการทางการศึกษาสถานศึกษา ระบบ และรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัด และความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น ๓) ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน และประกันคุณภาพการศึกษารวมทั้งการจัดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้การทดสอบทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะมีศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการจัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมของคนพิการเพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนร่วม โรงเรียนเฉพาะความพิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระบบการเปลี่ยนผ่านสำหรับคนพิการ (Transition) ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานการจัดการเรียนร่วม จัดระบบสนับสนุนการเรียนการสอน การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา รวมถึงการจัดบุคลากร พัฒนา และฝึกอบรมผู้ดูแลคนพิการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน (Community Based Rehabilitation : CBR) ด้วยกระบวนการทางการศึกษา เป็นศูนย์ข้อมูล รวมทั้งจัดระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ
จากสภาพปัญหาในการดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนคนพิการในวัยเรียน มีเป็นจำนวนมากมีความยากลำบากในการเดินทางมารับบริการ เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการเดินทาง ฐานะความเป็นอยู่ยากจนและสภาพความพิการส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กพิการ นอกจากนี้บุคลากรของศูนย์การศึกษาพิเศษมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การบริการไม่ทั่วถึง ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้จัดตั้งหน่วยบริการของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ หน่วยบริการวังโป่งขึ้น เพื่อให้เด็กพิการในชุมชนและเขตบริการใกล้เคียงได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สามารถเข้าถึงการรับบริการทางการศึกษาจากศูนย์การศึกษาพิเศษได้สะดวก รวดเร็ว คล่องตัว อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครอบครัว ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการ
|